วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2558

Vietnam People's Navy : กองทัพเรือเวียดนามกับอุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศ


     กองทัพเรือประชาชนเวียดนามถือกำเนิดขึ้นในปี 1953 เพื่อดูแลความปลอดภัยในเขตน่านน้ำและเกาะน้อยใหญ่ของสาธารณรัฐเวียดนามหรือเวียตนามใต้ กองทัพเรือเริ่มต้นด้วยทหารหน่วยยามฝั่งจำนวน 500 นายก่อนเพิ่มเป็น 2,500 นายในปี 1964 ระหว่างสงครามเวียดนามที่กินเวลา 19 ปี 5 เดือน 4 อาทิตย์ 1 วัน เวียตนามใต้มีแค่เพียงเรือตรวจการณ์ปืนจากจีนจำนวน  28  ลำและเรือเร็วตอร์ปิโดขนาดเล็กจากโซเวียตอีก 30 ลำเท่านั้น  เรือรบส่วนใหญ่ที่เข้าปะทะฝ่ายกับตรงข้ามจึงเป็นเรือของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน การรบทางทะเลที่หมู่เกาะพาราเซลระหว่างเวียตนามเหนือกับจีนในวันที่ 19 มกราคม 1974  ส่งผลให้เวียตนามและจีนที่เคยร่วมเป็นร่วมตายกันมาจนชนะสงคราม ต้องแตกคอกันในที่สุดเพราะการอ้างกรรมสิทธิในพื้นที่ทับซ้อนแห่งนี้

     หลังสงครามสิ้นสุดลงในปี 1975 พวกเขาได้ครอบครองเรือรบของกองทัพเรือสาธารณรัฐเวียดนามหรือเวียตนามเหนือมาได้จำนวนหนึ่ง ทว่าเป็นเพียงเรือตรวจการณ์ชายฝั่งและเรือวางทุ่นระเบิดขนาดเล็กเป็นส่วนใหญ่ เรือพิฆาตคุ้มกันและเรือฟริเกตจำนวน 9 ลำได้ถูกโอนไปให้ฟิลิปปินส์ตัดหน้าไปแล้วถึง 7 ลำ เมื่อรวมกับเรือของตัวเองแล้วกองทัพเรือเงียตนามจึงมีขนาดใหญ่โตขึ้น สงครามสิ้นสุดไปแล้วแต่ปัญหาต่างๆก็ยังไม่จบตาม เพราะเรือรบที่ได้มาติดตั้งอาวุธและระบบต่างๆจากตะวันตก ทำให้การใช้งานดูแลหรือซ่อมบำรุงเป็นไปด้วยความยากลำบาก รัฐบาลจึงมีแผนเพื่อปฎิรูปกองทัพเรือให้มีความทันสมัยมากขึ้น โดยติดตั้งอาวุธและระบบต่างๆเป็นมาตราฐานเดียวกัน

      ระหว่างปี 1978 ถึง 1990 ความช่วยเหลือจากโชเวียตประกอบไปด้วยเรือรุ่นต่างๆมากพอสมควร เรือฟริเกตชั้น Petya II จำนวน 2 ลำเดินทางมาถึงเป็นชุดแรก จากนั้นไม่นานก็เป็นเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น Osa โซเวียตยังสร้างฐานทัพเรือขนาดมาตราฐานเพิ่มเติมให้ด้วย แต่เวียตนามไม่ได้นิ่งนอนใจรอรับความช่วยเหลืออย่างเดียว พวกเขามีความพยายามที่จะยืนหยัดด้วยลำแข้งของตัวเอง และแล้วโครงการ TP-01 ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 1977 เป็นโครงการต่อเรือตรวจการณ์ขึ้นมาเองภายในประเทศ 3 ปีถัดจากนั้นที่อู่ต่อเรือ Ba Son เรือตรวจการณ์ HQ-251 ถูกปล่อยลงน้ำและเข้าประจำการในปีถัดไป ถัดมาไม่นานนักจึงเป็นคิวของโครงการ TP-01M ซึ่งก็คือเรือ HQ-253 เรือทั้ง 2 ลำมีความคล้ายคลึงกับเรือคอร์เวตปราบเรือดำน้ำ Type 037 Hinan ของประเทศจีนราวกับฝาแฝด

     หลังสิ้นสุดโครงการไม่ได้มีการต่อเรือเพิ่มหรือปรับปรุงแบบเรือให้ทันสมัยขึ้น สาเหตุแรกเป็นเพราะเรือต้นแบบจากจีนเองก็มีปัญหาในการใช้งานอยู่พอสมควร ทั้งนี้เนื่องมาจากเทคโนโลยีการต่อเรือของจีนในสมัยนั้นยังไม่ก้าวหน้าและอยู่ในขั้นลองผิดลองถูก เรือทั้ง 2 ลำของเวียตนามจึงมีสถานะใช้งานไปซ่อมแซมไปจนถึงวันปลดประจำการ  สาเหตุถัดไปเกิดจากทั้งสองประเทศเริ่มมีความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น  ทำให้ความช่วยเหลือทางการทหารจากจีนค่อยๆน้อยลงจนสิ้นสุดในเวลาต่อมา การถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆมาให้จึงสิ้นสุดลงไปด้วยโดยปริยาย

     ก้าวเข้าสู่ยุคทศวรรษที่ 90  หลังการล่มสลายของสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต กองทัพเรือเวียดนามแทบไม่ได้จัดหาเรือรบรุ่นใหม่เพิ่มเติมเลย ที่พอจะมีอยู่บ้างก็เป็นเรือจากเกาหลีเหนืออาทิเช่นเรือดำน้ำขนาดเล็ก และเมื่อไม่มีความช่วยเหลือจากต่างประเทศการต่อเรือรบใช้เองก็แทบเป็นไปได้ พวกเขาจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการซ่อมแซมเรือเก่าให้ใช้งานได้เป็นพัลวัน กระทั่งสหพันธรัฐรัสเซียเริ่มเข้มแข็งทางด้านอุตสาหกรรมทางทหารมากขึ้น โครงการจัดหาเรือรบรุ่นใหม่ของเวียตนามจึงเป็นรูปเป็นร่าง เรือตรวจการณ์อาวุธปืนความยาว 50 เมตรชั้น Svetlyak จำนวน 6 ลำคือออเดอร์แรกสุด ตามมาด้วยเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น Tarantul-I จำนวน 4 ลำ  และเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น BPS-500 อีก 1 ลำ ทั้งนี้เพื่อทดแทนเรือรุ่นเก่าๆที่หมดสภาพและต้องปลดประจำการเสียที

     เมื่อมีเรือรบรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งเข้าประจำการแล้วความจำเป็นเร่งด่วนจึงหมดไปด้วย กองทัพเรือเวียดนามเริ่มต้นเดินหน้าในเรื่องสำคัญๆทันที การต่อเรือภายในประเทศถูกนำมาปัดฝุ่นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากเตรียมตัวอยู่หลายปีโครงการ TT400TP จึงได้เริ่มต้นขึ้น เรือตรวจการณ์ความยาว 54 เมตร ระวางขับน้ำเต็มที่ 455 ตันเริ่มต้นวางกระดูกในปี 2009 ก่อนปล่อยลงน้ำในปี 2011 และเข้าประจำการในปีถัดมา เรือชั้นนี้สามารถวิ่งด้วยความเร็วสุงสุดได้ถึง 32 น๊อต และด้วยความเร็วเดินทาง 15 น๊อตจะมีระยะปฎิบัติการ 2,500 ไมล์ทะเล เรือชั้น TT400TP เข้าประจำการแล้ว 4 ลำและอยู่ในระหว่างสร้างอีก 2 ลำ  ติดอาวุธปืนใหญ่อัตโนมัติ AK-176 ขนาด 76 มม. 1 กระบอก ปืนกลอัตโนมัติ 6 ลำกล้องรวบ  AK-630 ขนาด 30 มม. 1 กระบอก ปืนกล 14.5 มม. 2 กระบอก และแท่นยิงจรวดต่อสู้อากาศยาน  MANPAD รุ่น 9K38 Igla แบบถอดเก็บได้ 1 แท่น ติดตั้งอยู่บนดาดฟ้ากลางเรือค่อนไปทางท้าย

      แท่นยิงจรวด MANPAD แบบถอดเก็บได้เป็นระบบที่น่าสนใจมาก ตัวแท่นยิงเป็นเหล็กสุงระดับไหล่พร้อมจุดติดตั้งเลื่อนสุงต่ำได้ แค่นำอาวุธมาวางทาบแล้วกดล๊อคเข้าตำแหน่งก็พร้อมใช้งานแล้ว จุดติดตั้งที่แข็งแรงช่วยในการเล็งเป้าหมายได้ดีกว่าการประทับบ่ายิงโดยตรง อาทิเช่น ในกรณีคลื่นลมแรงทัศนะวิสัยไม่ดีจะเห็นผลต่างชัดเจนมากขึ้น เมื่อไม่ใช้งานสามารถนำจรวดจัดเก็บภายในตัวเรือยืดอายุการใช้งานได้อีก หรือเลือกที่จะย้ายไปยิงด้านหน้าเรือด้านข้างเรือตามแต่สถานะการณ์ ถ้ากองทัพเรือไทยจะคิดปรับปรุงดัดแปลงใช้งานบ้างผู้เขียนก็เห็นดีด้วย

     ต่อจากโครงการ TT400TP ก็เป็นโครงการเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น  Molniya ( ซึ่งเวียตนามเรียกว่าเรือคอร์เวต ) เรือมีความยาว 56.9 เมตร ระวางขับน้ำเต็มที่ 550 ตัน ทำความเร็วสุงสุดได้ถึง 38 น๊อต ติดอาวุธปืนใหญ่อัตโนมัติ AK-176 ขนาด 76 มม. 1 กระบอก ปืนกลอัตโนมัติ 6 ลำกล้องรวบ AK-630 ขนาด 30 มม. 2 กระบอก และจรวดต่อสู้เรือรบ Kh-35 Uran-E จำนวน 16 นัด เวียตนามได้ลิคสิทธิ์ต่อเรือจากรัสเซียจำนวน 12 ลำ บวกออปชั่นเสริม 4 ลำ อู่ต่อเรือ Ba Son ได้ต่อเรือจำนวน 6 ลำเข้าประจำการแล้ว และอยูในระหว่างการสั่งซื้ออีก 4 ลำครบตามแผนคือ 10 ลำ เวียตนามยังเหลือโควต้าต่อเรือชั้น Molniya อีก 6 ลำ สำหรับอนาคตหรืออาจขายให้กับชาติอื่นๆก็เป็นได้

    นอกจากเรือรบติดอาวุธทั้ง 2 แบบแล้ว กองทัพเรือเวียดนามยังได้ต่อเรือช่วยรบชนิดอื่นๆอีกหลายลำด้วยกัน อาทิเช่น เรือลำเลียงทหารชั้น K 122 หมายเลขเรือ HQ-571 ต่อด้วยเรือพยาบาลชั้น Z189 หมายเลขเรือ HQ-561  และเรือสำรวจและวิจัยทางทะเลชั้น HSV-6613 หมายเลขเรือ HQ-888  โดยใช้แบบเรือของ Damen เนเธอร์แลนด์แต่ต่อโดยอู่ต่อเรือ Song Thu ของเวียตนาม มีระวางขับน้ำประมาณ 1,500 ตัน ยาว 66.3 เมตร เซึ่งก็ป็นแบบเรือเดียวกันกับเรือหลวงพฤหัสบดีของเรานี่แหละ เพียงแต่รายละเอียดบางอย่างแตกต่างกันออกไปบ้างเท่านั้นเอง

     เพื่อจะมองภาพรวมให้กว้างขึ้นผู้เขียนจะขอข้ามไปพูดถึงหน่วยยามฝั่งเวียตนามซักครู่หนึ่ง หน่วยงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพบกประชาชนเวียดนามได้ถูกจัดตั้งขึ้นในปี 1998 หน้าที่หลักก็เหมือนหน่วยยามฝั่งประเทศอื่นๆแต่เรือที่ใช้งานค่อนข้างน่าสนใจ ผู้เขียนได้พูดถึงเรือตรวจการณ์ TT400TP ไปแล้วว่ากองทัพเรือเวียตนามมีจำนวน  6 ลำ ทางด้านหน่วยยามฝั่งเวียตนามก็มีเรือชั้นนี้เช่นกันโดยใช้ชื่อรุ่น TT400 ติดเพียงอาวุธปืนกลขนาด 23 มม. มีการจัดหาทั้งหมด 8 ลำและเข้าประจำการแล้ว 5 ลำ นอกจากนี้ในตระกูลเดียวก็ยังมีเรือชั้น TT200 ระวางขับน้ำ 200 ตัน มีการจัดหาทั้งหมดจำนวน 10 ลำ และเรือชั้น TT120 ระวางขับน้ำ 120 ตัน มีการจัดหาอีกจำนวน 5 ลำตามแผนการ

     ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงเรือตรวจการณ์สำคัญที่สุดของหน่วยยามฝั่งเวียตนาม นั่นคือเรือชั้น DN 2000 ซึ่งใช้แบบเรือ Damen 9014 จากเนเธอร์แลนด์มาปรับปรุงให้เหมาะสมกับการใช้งาน เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งมีความยาว 90 เมตร ระวางขับน้ำ  2,500 ตัน ต่อที่อู่ต่อเรือ Ha Long ซึ่งเป็นอู่ในเครือ Damen Group ที่ได้ลงทุนมาสร้างให้ถึงเวียตนาม ทำไมถึงได้กล้าลงทุนขนาดนี้ เป็นเพราะปริมาณยังไงล่ะครับ ตามแผนการที่วางไว้เรือชั้น DN 2000 จะมีจำนวนถึง 9 ลำด้วยกัน เรือ DN 2000 เข้าประจำการแล้ว 2 จาก 4 ลำแรก และอีก 5 ลำที่เหลือกำลังรอคำสั่งซื้อในเฟสถัดไป ตามแผนการที่วางไว้หน่วยยามฝั่งเวียตนามจะมีเรือรวมทั้งสิ้น 48 ลำ เรือที่ไม่ได้ต่อเองในประเทศก็จะนำเข้าจากเกาหลีใต้และเนเธอร์แลนด์เป็นหลัก บวกด้วยเรือตรวจการณ์ขนาดเล็กรุ่นเก่าของรัสเซียอีก 5 ลำ

     อุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศเวียตนามรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทว่ายังคงเป็นเพียงการต่อเรือช่วยรบและเรือรบติดอาวุธขนาดไม่เกิน 600 ตันเท่านั้น ส่วนเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น DN 2000 ขนาด 2,500 ตันก็ยังไม่ใช่การต่อด้วยมาตราฐานเรือรบแท้ๆ การจัดหาเรือรบขนาดใหญ่ของพวกเขายังคงเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ ในปี 2006 กองทัพเรือเวียตนามได้สั่งซื้อเรือฟริเกตชั้น Gepard 3.9 จากรัสเซียจำนวน 2 ลำวงเงิน 350 ล้านเหรียญและ เข้าประจำการแล้ว ต่อมายังได้สั่งซื้อเรือแบบเดียวกันเพิ่มอีก 2 ลำในปี 2011 ขณะนี้อยู่ระหว่างสร้าง นอกจากนี้ในอนาคตก็จะสั่งเพิ่มอีก 2 ลำครบ 6 ลำตามความต้องการ เรือมีความยาว 102 เมตร ระวางขับน้ำ 2,100 ตัน  ติดอาวุธปืนใหญ่อัตโนมัติ AK-176 ขนาด 76 มม. 1 กระบอก ปืนกลอัตโนมัติ 6 ลำกล้องรวบ AK-630 ขนาด 30 มม. 2 กระบอก ระบบ CIWS Palma (หรือ Kashtan รุ่นส่งออก) 1 ระบบ ประกอบไปด้วยปืนกลอัตโนมัติ 6 ลำกล้องรวบ 30 มม. 2 กระบอกและจรวดต่อสู้อากาศยาน SA-N-11 ระยะยิง 8 กิโลเมตรจำนวน 8 นัด จรวดต่อสู้เรือรบ Kh-35 Uran-E จำนวน 8 นัด มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำรุ่น Kamov Ka-27 แต่ไม่มีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์

     เรือฟริเกต Gepard 3.9 มีความทันสมัยมากก็จริง แต่มีจุดอ่อนสำคัญคือทำการรบได้เพียง 2 มิติเท่านั้น เนื่องมาจากเรือไม่มีระบบอาวุธต่อต้านเรือดำน้ำและโซนาร์ทางการทหารแต่อย่างใด มีเพียงเฮลิคอปเตอร์ Ka-27 ในการไล่ล่าเรือดำน้ำเท่านั้น ถ้าโดนเรือดำน้ำตลบหลังคงลำบากเพราะไม่มีอะไรป้องกันตัว ภารกิจปราบเรือดำน้ำยังคงเป็นหน้าที่ของเรือฟริเกตจากยุคทศวรรษที่ 50 ชั้น Petya II  จำนวน 5 ลำ เรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำมีความยาว 81 เมตร ระวางขับน้ำ 1,150 ตัน ติดอาวุธปืนใหญ่อัตโนมัติ AK-726 ขนาด 76 มม.ลำกล้องแฝด จำนวน 2 กระบอก  จรวดต่อต้านเรือดำน้ำ RBU-6000  12 ท่อยิงจำนวน 2 ระบบ แท่นยิงตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำขนาด 406 มม.แฝด 5 จำนวน 2 ระบบ ติดตั้งโซนาร์ตรวจจับเรือดำน้ำและระบบ VDS (variable depth sonar) เรือจำนวน 2 ใน 5 ลำถูกดัดแปลงให้ติดอาวุธปืนกลขนาด 23 มม. และ 37 มม.แทนที่อาวุธเก่า โดยยังคงมีแท่นยิงตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำขนาด 406 มม.แฝด 5 จำนวน 1 ระบบไว้ด้านท้ายเรือ เนื่องจากเรือมีอายุการใช้งานมากพอสมควร ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าระบบโซนาร์จะยังทำงานได้ตามปรกติหรือไม่ ให้เดาก็คงคาดว่าเรือ 2 ลำที่ถูกดัดแปลงระบบโซนาร์คงใช้งานไม่ได้แล้ว

     นอกจากเรือรบรุ่นใหม่จำนวนมากจากประเทศรัสเซียแล้ว กองทัพเรือเวียตนามยังได้สั่งซื้อเรือรบจากประเทศเนเธอร์แลนด์อีกด้วย อู่ต่อเรือ Damen ได้รับคำสั่งซื้อเรือฟริเกตชั้น SIGMA 9814 จำนวน 2 ลำจากความต้องการรวม 4 ลำ โดยจะเป็นการต่อเรือที่เนเธอร์แลนด์ 1 ลำและในเวียตนามอีก 1 ลำ ติดตั้งอาวุธและระบบต่างๆจากค่ายตะวันตกทั้งหมด ปืนใหญ่อัตโนมัติ Oto Melara ขนาด 76 มม.1 กระบอก ปืนกลอัตโนมัติ Oto Melara  MARLINขนาด 30 มม. จำนวน 2 กระบอก จรวดต่อสู้เรือรบ Exocet  MM40 Block 3 จำนวน 8 นัด จรวดต่อสู้อากาศยาน MICA VL  จำนวน 12 นัด ตามแบบโมเดลเรือที่จัดแสดงได้ติดตั้งระบบโซนาร์ด้วย จึงคาดว่าน่าจะมีแท่นยิงตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำขนาด 324 มม.รวมอยู่ด้วย เรือ SIGMA 9814 มีขนาดเล็กกว่าเรือ Gepard 3.9 อยู่นิดหน่อย ทว่ามีอาวุธครบทั้ง 3 มิติและมีความทันสมัยมากกว่า ผู้เขียนไม่คิดว่ากองทัพเรือเวียตนามจะนำเรือ SIGMA 9814 มาใช้ในกองเรือปราบเรือดำน้ำ เพราะเป็นเรือรบทันสมัยมากที่สุดติดจรวดต่อสุ้อากาศยานที่ดีที่สุดมีระยะยิงไกลมากที่สุด เรือฟริเกตชั้นนี้จึงน่าจะมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์มากกว่าเรือลำอื่นๆ

     แล้วเวียตนามจะใช้เรือรบชนิดไหนในการไล่ล่าเรือดำน้ำฝ่ายตรงข้าม นอกจากเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำชั้น Petya จำนวน 3 ลำแล้ว พวกเขายังได้สั่งซื้อเรือดำน้ำพิฆาตชั้น Kilo 636M จากรัสเซียจำนวนถึง 6 ลำด้วยกัน เรือยาว 70 เมตร ระวางขับน้ำประมาณ 3,000 ตัน ติดตั้งได้ทั้งตอร์ปิโดขนาด 533 มม. ต่อสู้เรือผิวน้ำและเรือดำน้ำ จรวดต่อสู้เรือรบรุ่น 3M-54 Klub และจรวดต่อสู้อากาศยานรุ่น SA-N-8 Gremlin ในเวอร์ชั่นเวียตนามอาจมีการลดสเป็กอุปกรณ์บางอย่างลง แต่ก็ยังติดตั้งโซนาร์ตระกูล  MGK 400E ที่มีประสิทธิภาพในการตรวจจับไกลมาก

     ก่อนหน้านี้ในปี 1997 เวียตนามมีเรือดำน้ำแล้ว 2 ลำด้วยกัน โดยเป็นเรือดำน้ำของเกาหลีเหนือชั้น Yugo ความยาว 20 เมตร ระวางขับน้ำประมาณ 110 ตัน  รองรับการติดตั้งตอร์ปิโดปราบเรือผิวน้ำขนาด 533 มม.ได้ 2 นัด หรือบรรทุกเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษได้มากสุด 6 นาย  เรือชั้น Yugo ของเวียตนามน่าจะเป็นเวอร์ชั่นสำหรับฝึกเท่านั้น และอาจจะเป็นเรือดำน้ำมือสองที่ผ่านการใช้งานมาพอสมควร สถานะปัจจุบันไม่แน่ใจอาจปลดประจำการแล้วก็เป็นได้  กลับมาที่เรือดำน้ำใหม่เอี่ยมชั้น Kilo อีกครั้ง เรือจำนวน 4 ลำได้ทำการส่งมอบและเข้าประจำการเรียบร้อยแล้ว เรือดำน้ำอีก 2 ลำที่เหลืออยู่ระหว่างการทดสอบในอู่ต่อเรือประเทศรัสเซีย ในดีลนี้ไม่มีการต่อเองในประเทศเพราะเทคโนโลยีของอู่ต่อเรือในเวียตนามยังคงก้าวไม่ถึง

     ผู้เขียนพอสรุปได้ว่า เรือฟริเกต SIGMA 9814 ลำที่ 2 ที่จะสร้างในอีก 1-2 ปีข้างหน้า จะเป็นเรือฟริเกตลำแรกของเวียตนามที่ต่อขึ้นเองในประเทศ และเรือฟริเกต SIGMA 9814 ในเฟส 2 อีกจำนวน 2 ลำก็น่าจะต่อเองในประเทศเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ถ้าเวียตนามมีความพร้อมและเจราจากับรัสเซียดีๆแล้วล่ะก็ เรือฟริเกต Gepard 3.9  เฟสสุดท้ายจำนวน 2 ลำก็น่าจะมีการต่อในประเทศด้วยเช่นกัน

     จำนวนอู่ต่อเรือในประเทศเวียตนามนับรวมได้ประมาณ 32 แห่ง อู่ต่อเรือที่ใหญ่ที่สุด 3 อันดับแรกก็คือ Ha Long Ba Son และSong Thu ซึ่งมีอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือค่อนข้างทันสมัย สามารถรองรับการก่อสร้างและซ่อมบำรุงเรือรบขนาด 5,000 ตันได้อย่างสบาย นอกจากนี้เวียตนามยังสามารถส่งออกเรือได้เป็นครั้งแรกแล้ว โดยในวันที่ 30 กรกฎาคม 2558 อู่ต่อเรือ Ha Long ได้ทำพิธีปล่อยเรือระบายพลขนาดใหญ่ชั้น RoRo 5612 ลงน้ำ กองทัพเรือบาฮามาส (หรือกองกำลังป้องกันตนเองบาฮามาส) ได้สั่งซื้อเรือลำนี้พร้อมกับเรือตรวจการณ์ 8 ลำจาก Damen Group บริษัทแม่ในเนเธอร์แลนด์ได้ส่งงานต่อเรืออเนกประสงค์ Stan Lander 5612 มาที่อู่ต่อเรือในเวียตนาม เรือมีความยาว 56.2 เมตร กว้าง 12 เมตร กินน้ำลึก 2.7 เมตร จะทำหน้าที่เป็นเรือพี่เลี้ยงให้กับเรือตรวจการณ์ของกองทัพเรือบาฮามาส และยังสามารถทำหน้าที่อื่นๆได้อย่างหลากหลาย ทั้งบรรทุกขนส่งสิ่งของเครื่องจักรขนาดใหญ่ หรือจะเป็นสัมภาระ น้ำดื่ม น้ำมัน ลำเลียงทหารและตำรวจ จนถึงติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ได้อีกด้วย

     โอกาสที่อู่ต่อเรือจากเวียตนามจะรับงานนอกประเทศเองเป็นไปได้ค่อนข้างยาก แต่ถ้าเป็นงานรับช่วงต่อมาอีกทีเหมือนดีลเรือบาฮามาสก็ช่างน่ารักน่าลุ้น กองทัพเรือเวียตนามยังมีความต้องการเรือรุ่นใหม่ๆอยู่อีกจำนวนหนึ่ง แต่จะหนักไปทางเรือตรวจการณ์ขนาดต่างๆและเรือช่วยรบรูปแบบต่างๆ เช่น เรือสนับสนุนการยกพลขึ้นบกบรรทุกรถถัง เรือขนส่งน้ำมัน หรือเรือพี่เลี้ยงเรือกวาดทุ่นระเบิดเป็นต้น
 
     โครงการในอนาคตของกองทัพเรือเวียตนาม ก็น่าจะเป็นการจัดหาเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำทดแทนเรือฟริเกตชั้น Petya II ผู้เขียนเดาใจไม่ถูกว่าจะมีการจัดหาทดแทนหรือโอนหน้าที่ไปให้กองเรือดำน้ำเลย เนื่องมาจากพวกเขาจะมีเรือฟริเกตรุ่นใหม่10 ลำในการป้องกันประเทศอยู่แล้ว และยังลงทุนไปมากโขกับกองเรือดำน้ำจำนวน 6ลำ ซึ่งทำการรบได้ครบทั้ง 3 มิติ แฟนเพจชาวเวียตนามได้คาดเดาว่าน่าจะเป็นเรือฟริเกตชั้น SIGMA 10514 ของเนเธอร์แลนด์ คงเป็นเพราะมีการจัดหาเรือฟริเกต SIGMA 9814 จำนวน 2 ลำแล้วนั่นเอง ทว่าเรือ SIGMA 10514 ติดระบบตรวจจับเรือดำน้ำทันสมัยจะมีราคาค่อนข้างแพงพอสมควร งบประมาณที่กองทัพเรือตั้งไว้อาจจะบานปลายได้โดยง่าย

     ก่อนหน้านี้ประมาณ 3-4 ปี เรือจากรัสเซียที่แฟนเพจชาวเวียตนามพูดถึงก็คือเรือชั้น SKR-2100 ( ซึ่งเป็นแบบเรือของหน่วยยามฝั่งรัสเซียที่ไม่ได้มีการสร้างขึ้นมาจริง ) เรือชั้นนี้มีระวางขับน้ำประมาณ 3,000 ตัน ติดอาวุธปืนใหญ่อัตโนมัติขนาด 100 มม. 1 กระบอก ปืนกลอัตโนมัติ 6 ลำกล้องรวบ AK-630 ขนาด 30 มม. 2 กระบอก จรวดต่อสู้เรือรบ Kh-35 Uran-E จำนวน 8 นัด ตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำขนาด 406 มม.จำนวน 4 ท่อยิง  จรวดต่อสู้อากาศยาน Shtil-1 Buk missile system จำนวน 24 นัดจากระบบ VLS จำนวน 3 หน่วย ท้ายเรือมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำรุ่น Kamov Ka-27 พร้อมโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ 1ลำ ติดตั้งระบบโซนาร์ขนาดปานกลางราคาไม่แพงมาก

     เรือชั้น SKR-2100 มีอาวุธครบครันทั้ง 3 มิติโดยเฉพาะระบบอาวุธต่อสู้อากาศยาน ซึ่งถ้าเวียตนามซื้อมาใช้ในภารกิจปราบเรือดำน้ำคงไม่ใช่แบบนี้แน่ เพราะเรือจะมีราคาแพงจนเกินงบประมาณไปไกลโข อีกทั้งยังไม่รู้ว่ารัสเซียจะขายจรวด Shtil-1ให้หรือไม่ ผู้เขียนคาดว่าอาจจะเปลี่ยนเป็นปืนใหญ่อัตโนมัติ AK-176 ขนาด 76 มม. 1 กระบอกด้านหัวเรือ ส่วนระบบจรวดต่อสู้อากาศยานก็คงตัดทิ้งเหลือเพียงระบบอาวุธปราบเรือดำน้ำเท่านั้น

     ผู้อ่านหลายท่านอาจสงสัยว่าเรือฟริเกตชั้น Gepard ติดระบบอาวุธปราบเรือดำน้ำได้หรือไม่ คำตอบก็คือสามารถติดได้ครับเพราะเรือ Gepard Pr11661 ของรัสเซียติดตั้งโซนาร์ประสิทธิภาพสุงราคาแพง 2 ระบบ มีท่อยิงตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำขนาด 533 มม.จำนวน 4 ท่อยิง และจรวดต่อต้านเรือดำน้ำ RBU-6000 12 ท่อยิงจำนวน 2 ระบบด้านหัวเรือ แต่การปรับปรุงเรือน่าจะมีราคาแพงพอสมควรเลยทีเดียว ทั้งยังไม่แน่ใจว่ารัสเซียจะขายระบบโซนาร์รุ่นนี้ให้หรือไม่  เทียบกับการติดตั้งโซนาร์ขนาดเล็กกว่ากับตอร์ปิโดปรบเรือดำน้ำขนาด 406 มม.จำนวน 4 ท่อยิงในตำแหน่งเดียวกับเรือชั้น SKR-2100 แล้ว ดูจะมีราคาถูกกว่ากันพอสมควรรวมทั้งราคาตอร์ปิโดด้วย หรืออาจจะข้ามสายพันธ์ไปติดตั้งระบบโซนาร์จากค่ายตะวันตก และตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำขนาด 324 มม.แทนก็เป็นไปได้ ส่วนจะใช้งานได้ดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับบริษัทที่รับปรับปรุงเรือ ใครอยากได้ดีลนี้ข้ามศพ Damen Group ไปก่อน (ขอซักมุขเถอะ)

     โครงการเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำของกองทัพเรือเวียตนามยังไม่มีความความชัดเจน แต่โครงการที่จะเกิดก่อนแน่ๆก็คือเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งระวางขับน้ำประมาณ 2,000 ตัน แม้หน่วยยามฝั่งเวียตนามจะมีแผนจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น DN2000 จำนวนถึง 9 ลำอยู่แล้วก็ตาม แต่เรือติดอาวุธแค่เพียงปืนกลขนาดเล็กและใช้ในภารกิจค้นหากู้ภัยบังคับใช้กฎหมายกลางทะเล ส่วนทางด้านเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งของกองทัพเรือเวียตนาม จะเน้นในภารกิจป้องปรามลาดตระเวณพื้นที่สุ่มเสียงและติดอาวุธหนักกว่ากัน  ปลายปี 2014 ได้เคยมีข่าวกับเรือตรวจการณ์จากอินเดียจำนวน 4 ลำ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นเรือชั้น Saryu ระวางขับน้ำ 2,300 ตัน คงต้องรอดูกันต่อไปว่าท้ายที่สุดจะเป็นจริงตามนี้หรือไม่ คาดว่าไม่เกินกลางปีหน้าโครงการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งน่าจะได้ข้อสรุป

      กองทัพเรือประชาชนเวียดนามกำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดดแต่เป็นระเบียบ อาวุธและอุปกรณ์ส่วนใหญ่เป็นของรัสเซียบวกกับค่ายตะวันตกที่เริ่มมีเข้ามาเรื่อยๆ อุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศก็กำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดดตามกัน ปริมาณเรือจำนวนมากทำให้พวกเขาสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ ทว่าอีก10ปีข้างเมื่อความต้องการภายในประเทศลดน้อยลง เราจะมาดูกันอีกทีว่าพวกเขาจะก้าวข้ามปัญหาต่างๆที่ตามมาได้หรือไม่และอย่างไร


-----------------------------------------------------------------------


อ้างอิงจาก

http://www.shephardmedia.com/news/mil-log/damen-roro-5612-launches-vietnam/
https://en.wikipedia.org/wiki/Vietnam_People%27s_Navy
https://en.wikipedia.org/wiki/Vietnam_Coast_Guard
http://defenceforumindia.com/forum/threads/vietnam-launches-first-locally-made-warship.30262/
http://www.globalsecurity.org/military/world/vietnam/navy.htm
http://www.vietnamshipbuildingnews.com
http://www.globalsecurity.org/military/world/vietnam/navy.htm
http://defence.pk/threads/vietnam-military-news-discussion.211882/page-141
------------------------------------------------------------------


วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2558

PGM-997 โครงการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.997

โครงการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.997

     วันนี้ผู้เขียนขอนำทุกท่านมาสู่บทความแห่งจินตนาการกันบ้าง หลังจากได้อ่านเรื่องเครียดๆกันไปเยอะแล้วจึงเป็นเวลาพักผ่อน บทความนี้เป็นการจิตนาการถึงโครงการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งลำใหม่ ที่ได้พัฒนาต่อยอดจากเรือที่เข้าประจำการไปแล้ว แต่จะขอกล่าวปูพื้นถึงโครงการเดิมก่อนเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันและชัดเจน

โครงการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา

     โครงการเรือตรวจเรือใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เป็นการต่อยอดโครงการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุด เรือ ต.91 ถึงต.99 ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีจุดเริ่มต้นจากพระราชกระแสรับสั่งแก่ผู้บังคับหมู่เรือรักษาการณ์วังไกลกังวลและผู้เข้าเฝ้า ฯ ณ วังไกลกังวล เกี่ยวกับการใช้เรือของกองทัพเรือ ในวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2545 ความว่า “เรือรบขนาดใหญ่มีราคาแพงและมีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานสูง กองทัพเรือจึงควรใช้เรือที่มีขนาดเหมาะสมและสร้างได้เอง ซึ่งเมื่อสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.91 ได้แล้ว ควรขยายแบบเรือให้ใหญ่ขึ้นและสร้างเพิ่มเติม” ทั้งยังได้มีพระราชดำรัสในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2546 เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงโดยได้ทรงยกตัวอย่างจากการพึ่งพาตนเองในโครงการต่อเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.91 ในอดีตของกองทัพเรือ

     ในช่วงเวลานั้น กองทัพเรือได้มีแผนปลดประจำการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.11 ที่ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา เนื่องจากใช้งานมานานประมาณ 40 ปีแล้ว กองทัพเรือจึงได้นำพระราชดำริฯ มาดำเนินการพัฒนาแบบเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดใหม่ ให้มีคุณสมบัติครบถ้วน และสอดคล้องกับแนวพระราชดำรัสดังกล่าว โดยขยายแบบเรือจากชุดเรือ ต.91 - ต.99 ให้ใหญ่ขึ้น

     กองทัพเรือได้รับอนุมัติจากกระทรวงกลาโหม ให้ดำเนินโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดใหม่เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2546 เพื่อทดแทนเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.11 และรัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กองทัพเรือดำเนินโครงการสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งพร้อมกัน 3 ลำ ในวงเงินรวมประมาณ 1,912 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการรวม 3 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 - 2550 เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา ในปี พ.ศ. 2550 เรือลำแรกคือ ต.991 เข้าประจำการในวันที่ 27 พฤษจิกายน 2550 และอีก 2 ลำในปีถัดไป ราคาต่อเรือจำนวน 3 ลำอยู่ที่ประมาณ 1,912 ล้านบาท หรือลำล่ะ 637 ล้านบาท เรามาดูคุณลักษณะโดยรวมของเรือกันหน่อยนะครับ

ชื่อเรือ: เรือ ต.991, ต.992 และ ต.993
ประเภท: เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง
ระวางขับน้ำ: ปกติ 170 ตัน เต็มที่ 186 ตัน
ความยาว: 38.7 เมตร
ความกว้าง: 6.49 เมตร
กินน้ำลึก: 1.813 เมตร
เครื่องจักร:
     - เครื่องจักรใหญ่ดีเซล MTU 16V 4000 M90 กำลัง 3,650 แรงม้า 2 เครื่อง
      -เพลาใบจักร 2 เพลา ใบจักร Wartsila Lips Defence แบบมุมตายตัว
     - เครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซล MTU กำลังไฟฟ้า 140 กิโลวัตต์ 2 เครื่อง
ความเร็วสูงสุด: 27 นอต
รัศมีทำการสูงสุด: 1,500 ไมล์ทะเล
กำลังพลประจำเรือ: 29 นาย (นายทหาร 5 พันจ่า 4 จ่า/พลฯ 20)
อาวุธ:
     - ปืนกลขนาด 30 มม. รุ่น DS-30M 2 กระบอก
     - ปืนกลขนาด 12.7 มม 2 กระบอก
ระบบอำนวยการรบ Thales TACTICOS
ระบบออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง Thales  Mirador
เรดาร์เดินเรือ Sperry Marine BridgeMaster E และ Furuno

โครงการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.994

หลังจากที่เรือ ต.991 เข้าประจำการได้เพียงปีเดียว กองทัพเรือไทยก็ได้สานต่อโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งรุ่นใหม่เพิ่มเติมอีก 3 ลำในวงเงิน 1,570 ล้านบาท หรือลำล่ะ 523 ล้านบาท โดยนำแบบเรือเดิมมาพัฒนาให้มีความเหมาะสมในการใช้งานมากขึ้น เรือชุดใหม่มีระวางขับน้ำใกล้เคียงกับของเดิม แต่ตัวเรือมีขนาดใหญ่กว่า ยาวมากกว่า กว้างมากกว่า ความเร็วสุงกว่า โดยใช้ระบบขับเคลื่อนชุดเดิมที่ให้กำลังเครื่องยนต์เท่าเดิม กรมอู่ทหารเรือออกแบบและสร้างเรือเอง 1 ลำและได้ว่าจ้างบริษัทมาร์ซันสร้างเพิ่มอีก 2 ลำตามแบบที่กองทัพเรือกำหนด เรือชุดใหม่กำหนดชื่อไว้ว่า ต.994 ต.995 และ ต.996 ตามลำดับ

ชื่อเรือ: เรือ ต.994, ต.995 และ ต.996
ประเภท: เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง
ระวางขับน้ำ: เต็มที่ 215 ตัน
ความยาว: 41.7 เมตร
ความกว้าง: 6.49 เมตร
กินน้ำลึก: 1.813 เมตร
เครื่องจักร:
     - เครื่องจักรใหญ่ดีเซล MTU 16V 4000 M90 กำลัง 3,650 แรงม้า 2 เครื่อง
      -เพลาใบจักร 2 เพลา ใบจักร Wartsila Lips Defence แบบมุมตายตัว
     - เครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซล MTU กำลังไฟฟ้า 140 กิโลวัตต์ 2 เครื่อง
ความเร็วสูงสุด: 29 นอต
รัศมีทำการสูงสุด: 1,500 ไมล์ทะเล
กำลังพลประจำเรือ: 32 นาย
อาวุธ:
     - ปืนกลขนาด 30 มม. รุ่น DS-30M 1 กระบอก
     - ปืนกล OTO Melara Naval Terret ขนาด 12.7 มม. แท่นเดี่ยว 1 แท่น
     - ปืนกลขนาด 12.7 มม 2 กระบอก
ระบบอำนวยการรบ Thales TACTICOS
ระบบออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง Thales  Mirador
เรดาร์เดินเรือ Sperry Marine BridgeMaster E และ Furuno

     เรือชุดใหม่มีขนาดใหญ่มากขึ้นและมีสมรรถนะดีมากขึ้น ทว่าราคาเฉลี่ยต่อลำลดลงจาก 637 ล้านบาทมาเป็น 523 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนำแบบเรือเดิมที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาปรับปรุง และที่สำคัญก็คือมีการติดตั้งปืนกลอัตโนมัติ 30 มม.รุ่น DS-30M เพียง1กระบอกหัวเรือ ส่วนด้านท้ายเปลี่ยนมาใช้ปืนกลอัตโนมัติขนาด12.7 มม.แทน ทำให้ลดค่าอาวุธลงได้พอสมควรเนื่องจากปืนมีราคาต่างกันมาก ทั้งยังสามารถควบคุมปืนกลอัตโนมัติทั้ง 2กระบอกได้พร้อมๆกัน ต่างจากเรือชุด ต.991ที่สามารถควบคุมได้ครั้งละ 1 กระบอกเท่านั้น

     นอกจากปรับปรุงเรือในทุกๆด้านให้ดีขึ้นแล้ว เรือชุด ต.994 ยังรองรับการติดตั้งอาวุธจรวดได้อีกด้วย มีการขยายความยาวด้านท้ายเรือออกไปประมาณ 3 เมตร และเลื่อนหัวเก๋งเรือหรือสะพานเดินเรือไปด้านหน้าอีกประมาณ 2 เมตร ทำให้ด้านท้ายเรือมีที่ว่างมากพอติดตั้งจรวดต่อสู้เรือรบขนาดเล็กได้ 2-4 นัด ข้อมูลจากกองทัพเรือระบุไว้ว่า รองรับแท่นยิงอาวุธปล่อยพื้น-สู่-พื้น C-704 แท่นละ 2 ท่อยิงจำนวน 2 แท่น

     นับได้ว่าเรือชุดนี้มีความทันสมัยและอเนกประสงค์มากขึ้น สามารถเสริมเขี้ยวเล็บด้วยอาวุธทันสมัยเพิ่มเติมได้อีกด้วย ผู้เขียนพิจารณาดูอยู่หลายรอบแต่ไม่ได้ตื่นเต้นดีใจอะไรมากนัก จะว่าไปแล้วไม่ค่อยเห็นด้วยกับแนวคิดนี้เสียด้วยซ้ำ เป็นเพราะเรือชุด ต.994 ถูกออกแบบให้เป็นเรือตรวจเรือใกล้ฝั่งไม่ใช่เรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถี แม้ท้ายเรือจะรองรับการติดตั้งอาวุธจรวดได้ก็ตาม แต่ระบบอาวุธป้องกันตัวมีน้อยมากและอุปกรณ์ต่างๆก็ประสิทธิภาพต่ำ ขณะที่อุปกรณ์อีกหลายอย่างที่เรือรบควรจะมีก็ไม่มีและไม่สามารถติดตั้งเพิ่มเติมได้ การนำเรือเข้าไปปะทะกับเรือรบฝ่ายตรงข้ามมีโอกาสมากที่จะพบกับการสูญเสีย ทั้งยังไม่รู้ว่าทำเสร็จแล้วจะได้สมรรถนะใกล้เคียงความต้องการหรือไม่ ถ้าอยากได้เรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีจริงๆควรสร้างเรือลำใหม่ที่ตรงตามความต้องการจะดีที่สุด

โครงการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.997

     หลังสิ้นสุดโครงการเรือชุด ต.994 ไปแล้ว ข่าวเรื่องการสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเพิ่มเติมก็เงียบหายไปด้วย กองทัพเรือได้หันไปพัฒนาโครงการเรือตรวจการณ์ชายฝั่งรุ่นใหม่ เพื่อนำมาทดแทนเรือของเดิมจำนวนมากที่ทยอยปลดประจำการ นอกจากนี้ยังมีโครงการเรือตรวจการระยะปานกลางความยาว 58 เมตร โครงการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง เรือฟริเกตสมรรถนะสุง และเรือดำน้ำโจมตีที่กำลังเป็นประเด็นร้อนๆของคนในประเทศ จึงพอคาดการณ์ได้ว่า จะไม่มีโครงการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดใหม่ในช่วงเวลาใกล้ๆนี้แน่ แต่ผู้เขียนใจร้อนเลยพัฒนาแบบเรือชุดใหม่ขึ้นมาเสียเอง มาดูกันหน่อยนะครับว่าจะตรงใจหรือขัดใจผู้อ่านมากน้อยแค่ไหน

     แบบเรือพัฒนามาจากเรือชุด ต.991และ ต.994 รวมกัน โดยออกแบบท้ายเรือเหมือนกันกับเรือ ต.994 แต่มีการขยายพื้นที่ด้านหน้าเรือให้ยาวมากขึ้น จากนั้นจึงสร้างห้องพักรับรองหน่วยปฏิบัติการพิเศษหรือผู้ประสบภัยทางทะเล โดยส่วนตัวผู้เขียนไม่ถูกใจเรือชุด ต.994 เท่าไหร่ที่หัวเรืออยู่ชิดเก๋งเรือมากเกินไป ต่างจากเรือชุด ต.991 ที่เก๋งเรืออยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมกว่า เรือชุด ต.997 ถูกขยายความยาวด้านหน้าเพื่อให้เก๋งเรืออยู่ตรงกลางมากที่สุด

     ก่อนอื่นเลยเพื่อประหยัดงบประมาณและแก้ข้อบกพร่องในอดีต เรือชุดใหม่จะใช้ปืนกลอัตโนมัติขนาด 30 มม.ที่ถอดมาจากเรือชุด ต.991 เป็นอาวุธหลัก โดยที่เรือชุด ต.991 จะติดตั้งปืนกลอัตโนมัติขนาด 12.7 มม.เข้าไปแทนที่ ทำให้สามารถยิงปืนกลอัตโนมัติด้านหน้าและด้านท้ายเรือได้อย่างพร้อมกันเสียที ปืนกลอัตโนมัติขนาด 12.7 มม.ติดตั้งระบบช่วยเล็งอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว จึงสามารถใช้ระบบออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง Thales  Mirador คุมปืนหน้าเพียงกระบอกเดียวได้ตลอดเวลา



นอกจากหัวเรือจะยาวขึ้นและด้านท้ายรองรับการติดตั้งอาวุธจรวดแล้ว เสากระโดงเรือยังได้รับการขยายขนาดเพื่อรองรับการติดตั้งเรดาร์ทันสมัยในอนาคต และยังรองรับอุปกรณ์อื่นๆอาทิเช่น  ระบบอุปกรณ์สงครามอิเลคทรอนิคขนาดเล็ก ระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมหรือSatCom ระบบเครือข่ายเน็ตเวิร์ค Link 11 Link RTN และ T-Link ในอนาคต เรามาดูคุณลักษณะโดยรวมของเรือชุด ต.997ของผู้เขียนกันครับ

ชื่อเรือ: เรือ ต.997, ต.998 และ ต.999
ประเภท: เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง
ระวางขับน้ำ: เต็มที่ 242 ตัน
ความยาว: 43.9 เมตร
ความกว้าง: 6.49 เมตร
กินน้ำลึก: 1.813 เมตร
เครื่องจักร:
     - เครื่องจักรใหญ่ดีเซล MTU 16V 4000 M90 กำลัง 3,650 แรงม้า 2 เครื่อง
      -เพลาใบจักร 2 เพลา ใบจักร Wartsila Lips Defence แบบมุมตายตัว
     - เครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซล MTU กำลังไฟฟ้า 140 กิโลวัตต์ 2 เครื่อง
ความเร็วสูงสุด: 28 นอต
รัศมีทำการสูงสุด: 1,500 ไมล์ทะเล
กำลังพลประจำเรือ: 32 นาย
อาวุธ:
     - ปืนกลขนาด 30 มม. รุ่น DS-30M 1 กระบอก
     - ปืนกล OTO Melara Naval Terret ขนาด 12.7 มม. แท่นเดี่ยว 1 แท่น
     - ปืนกลขนาด 12.7 มม 2 กระบอก
ระบบอำนวยการรบ Thales TACTICOS
ระบบออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง Thales  Mirador
เรดาร์เดินเรือ Furuno จำนวน 2 ระบบ S-Band และ X-Band

     เทียบกับเรือ ต.994 แล้วระวางขับน้ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อยความเร็วเรือลดลงเล็กน้อย เนื่องจากเรือยาวขึ้นมีการสร้างห้องพักและห้องเก็บของเพิ่มเติมบริเวณหัวเรือ อาวุธที่ติดตั้งเหมือนกับเรือชุด ต.994 รวมทั้งอาวุธและอุปกรณ์ที่สามารถติดตั้งเพิ่มเติมได้ ผู้เขียนได้จำลองรูปแบบการใช้งานเรือไว้ 6 แบบด้วยกันคือ

     1 เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งตามปรกติ ติดอาวุธปืนกลอัตโนมัติหน้า-หลังตามปรกติ ด้านท้ายเรือรองรับอากาศยานไร้คนขับขึ้นลงทางดิ่ง รุ่น DTI RTN KSM-150R ซึ่งเป็นรุ่นใช้งานจริงบนเรือได้ 1-2 ลำ
     2 เรือสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือ มีการติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ด้านท้ายเรือ 2 ชุด จึงสามารถปรับเปลี่ยนภารกิจได้อย่างยืดหยุ่น (Flexible Mission) อาทิเช่น ห้องผ่าตัดตู้คอนเทนเนอร์ของสถาบันวิจัยและพัฒนาการทางทหาร กองทัพเรือ (สวพ.ทร.) ภายในตู้คอนเทนเนอร์ประกอบด้วยระบบต่างๆ ดังนี้

     - ห้องผ่าตัดฉุกเฉิน และห้องผ่าตัด อย่างละ 1 ห้อง

     - ระบบไฟฟ้า ซึ่งสามารถรองรับไฟฟ้าได้ 3 ระบบ ได้แก่ ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าขนาด 380 V 3 เฟส 50 Hz ไฟฟ้าจากเรือ 440 V 3 เฟส 60 Hz และไฟฟ้าจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าภายในตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 380 V 3 เฟส 50 Hz

     - ระบบสื่อสารทางไกลทางการแพทย์ เพื่อขอใช้คำปรึกษาทางการแพทย์จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในส่วนกลาง โดยสามารถติดต่อสื่อสารกันด้วยระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม ระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ADSL ระบบ WiFi และระบบ WIMAX

     - ระบบไฮโดรลิก 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ใช้ขยายขนาดของตู้คอนเทนเนอร์ และส่วนที่ใช้ยกตู้คอนเทนเนอร์เพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้ายด้วยรถชานต่ำ

     - ระบบปรับอากาศ ทั้งในส่วนของห้องฉุกเฉินและห้องผ่าตัด แต่ละห้องมีขนาด 3 หมื่นบีทียู พร้อมติดตั้งเครื่องฟอกอากาศและเติมอากาศภายในห้องผ่าตัด

     - ระบบเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ได้แก่ เตียงผ่าตัด, โคมไฟฟ้าห้องฉุกเฉินและห้องผ่าตัด, เครื่องเอกซเรย์ระบบดิจิตอล, เครื่องดมยาสลบ, เครื่องอัลตราซาวนด์, เครื่องติดตามสัญญาณชีพแบบดิจิตอล, เครื่องจี้-ตัดด้วยไฟฟ้า, เครื่องดูดของเหลว, ชุดปฐมพยาบาลห้องฉุกเฉิน, ชุดเครื่องมือผ่าตัดเล็กและผ่าตัดใหญ่ และระบบทำความสะอาดมือโดยไม่ใช้น้ำ

     - ระบบบันทึกเวชระเบียนแบบไร้สาย ควบคุมการใช้งานเครื่องมือและเวชภัณฑ์ภายในห้องฉุกเฉิน และช่วยรายงานการคงเหลือของอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ให้ส่วนกลางทราบ

     ราคาเฉลี่ยต่อ1ระบบอยู่ที่20ล้านบาท ขณะที่ราคาจัดซื้อจากต่างประเทศจะสุงมากถึง50ล้านบาท แม้ตัวเรือจะมีขนาดเล็กไม่ทนทานต่อคลื่นลมขนาดใหญ่กลางทะเลลึกได้ แต่การเข้าจอดเทียบท่าเพื่อเป็นห้องผ่าตัดเคลื่อนที่สามารถทำได้อย่างแน่นอน จึงเป็นอุปกรณ์ที่มีคุณประโยชน์มหาศาลในกรณีเหตุการณ์ฉุกเฉินเฉพาะหน้า

     3 เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งติดอาวุธจรวดนำวิถีต่อสู้เรือ Penguin MK2 แม้ผู้เขียนจะไม่ค่อยชอบการใช้งานรูปแบบนี้ซักเท่าไหร่ แต่ในเมื่อเรือต้นแบบรองรับได้ก็ไม่มีเหตุผลที่จะปฎิเสธ โดยที่เรือจะได้รับการติดตั้งเรดาร์ SAAB Sea Gireffte 1X ซึ่งเป็นเรดาร์ 3D AREA ขนาดเล็กระยะทำการ 100 กม. สามารถตรวจจับเป้าหมายบนอากาศได้พร้อมกัน 100 เป้าหมายและเป้าหมายบนพื้นน้ำได้พร้อมกัน 200 เป้าหมาย พร้อมกันนี้ยังได้เปลี่ยนไปใช้ระบบอำนวยการรบ Tira และระบบออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง SAAB EOS-500 แทนอีกด้วย ปลายสุดเสากระโดงเรือ ติดตั้งระบบตรวจจับสัญญาณเรดาร์ ESM ES-3601

     Penguin MK2 ของนอร์เวยมีระยะยิงไกลสุดประมาณ 34 กิโลเมตร แม้ว่าจะจรวดจะเข้าประจำการตั้งแต่ปี 2515 ก็ตาม แต่ก็ยังได้รับความนิยมจากหลายชาติมาจนถึงทุกวันนี้ แม้แต่กองทัพเรืออเมริกายังสั่งไปใช้งานโดยใช้ชื่อรหัสว่า AMG-119 ถึงปัจจุบันก็ยังได้รับการสั่งซื้อลูกจรวดอยู่เรื่อยๆ โดยที่ลูกค้าล่าสุดก็คือกองทัพเรือบราซิลในปี 2555 และกองทัพเรือนิวซีแลนด์ในปี 2556

          3 เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งติดอาวุธจรวดนำวิถีต่อสู้เรือ C-704 อาวุธจรวดขนาดเล็กจากจีนมีระยะยิงไกลสุดประมาณ 35 กิโลเมตรซึ่งใกล้เคียงกับจรวด Penguin MK2 ตัวเรือสามารถรองรับการติดตั้งได้ถึง 4 นัดแต่ผู้เขียนใส่ไว้เพียง 2 นัดเพราะคิดว่าเพียงพอแล้ว เรือได้รับการติดตั้งเรดาร์ Thales Variant 2D ระยะทำการบนอากาศประมาณ 120 กิโลเมตรส่วนบนพื้นน้ำประมาณ 70 กิโลเมตร สามารถตรวจจับเป้าหมายบนอากาศได้พร้อมกัน 200 เป้าหมายและเป้าหมายบนพื้นน้ำได้พร้อมกัน 200 เป้าหมาย ระบบอำนวยการรบและระบบออปโทรนิกส์ควบคุมการยิงเป็นรุ่นมาตราฐาน   ติดตั้งระบบเป้าลวงจรวดนำวิถีขนาดเล็กจำนวน 2 ชุด ซึ่งก็น่าจะเพียงพอสำหรับการป้องกันตัวในระยะเวลาสั้นๆ  เสริมด้วยระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม SatCom Link 11 Link RTN

     การเลือกใช้จรวดต่อสู้เรือรบขนาดเล็กทั้ง 2 รุ่น นอกจากจะอยู่ในระยะตรวจจับของเรดาร์หลักที่มีประสิทธิภาพสุงมากขึ้นแล้ว ขนาดของตัวเรือและราคาจรวดที่ไม่แพงนักก็เป็นประเด็นที่สำคัญด้วย

     5 เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งติดอาวุธจรวดอเนกประสงค์ Spike-ER  ของอิสราเอล โดยปรกติแล้วอาวุธปืนกลขนาด 20-30 มม. จะมีประสิทธิภาพในการหยุดหรือสกัดกั้นเป้าหมายขนาดเล็กเท่านั้น เมื่อนำมาใช้ในภารกิจลาดตระเวณประจำวันก็มีความเพียงพอในการป้องกันตัวเองจากภัยคุกคามแล้ว การติดตั้งอาวุธจรวดอเนกประสงค์ขนาดเล็กเพิ่มเติม มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้ทำลายเป้าหมายขนาดเล็ก หรือสกัดกั้นหรือหยุดเป้าหมายขนาดใหญ่ จรวดอเนกประสงค์ Spike-ER  พัฒนาต่อยอดมาจากจรวดต่อสู้รถถังโดยมีระยะยิงเพิ่มขึ้นเป็น 8 กิโลเมตร จรวดจำนวน 4 นัดบนแท่นยิงขนาดเล็กใช้ระบบออปโทรนิกส์ในการเล็งเป้าหมาย

     ผู้เขียนติดตั้งแท่นยิง Spike-ER ไว้แทนที่ตำแหน่งปืนกลอัตโนมัติ 12.7 มม.กลางเรือ และได้ติดปืนกล 12.7 มม. ไว้ด้านท้ายเรือเพิ่มเติมซึ่งสามารถถอดประกอบได้โดยง่าย สาเหตุเนื่องจากตำแหน่งนี้มีความสุงมากพอที่จรวดจะไม่โดนน้ำทะเลรบกวน อีกทั้งยังไม่เกะกะในกรณีต้องการตั้งตั้งตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์เพิ่มเติม

     5 เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งติดอาวุธจรวดอเนกประสงค์ LMM จรวด Lightweight  Multirole  Missile ของ Thales สามารถติดตั้งบนเรือได้ถึง 2 ระบบด้วยกัน แบบแรกคือแท่นยิงขนาดเล็กพร้อมจรวดระยะยิงไกลสุด 8 กิโมเมตรจำนวน 4 นัด แบบที่สองคือติดด้านขวามือของระบบปืนกลอัตโนมัติ DS-3OM โดยมีความจุสุงสุดถึง7 นัด

     ผู้เขียนไม่ค่อยชอบระบบที่ติดจรวดข้างปืนกลเท่าไหร่นัก แม้จะประหยัดพื้นที่บนตัวเรือและมีจำนวนจรวดมากกว่ากันก็เถอะ เป็นเพราะด้านหน้าเรือจะโดนทั้งลมและคลื่นซัดใส่ตลอดเวลา ถึงจะเป็นจำนวนไม่มากแต่ก็ทำให้จรวดมีความเสี่ยงที่จะโทรมเร็วกว่าตำแหน่งอื่น นอกจากนี้ถ้าระบบอาวุธตรงนี้ใช้งานไม่ได้นั่นหมายถึงอาวุธทั้ง 2 ชนิดจะหายไปเลย การแยกแท่นยิงของจรวดออกจากปืนกลน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด (ในกรณีที่สามารถเลือกได้นะครับ) จรวดอเนกประสงค์เหมาะสมกับภารกิจลาดตะเวณในน่านน้ำที่อาจจะมีความเสี่ยง แต่กับน่านน้ำที่มีความสุ่มเสี่ยงสุงมากเช่นบริเวณชายแดน แนะนำว่าใช้เรือตรวจการณ์ที่ใหญ่กว่านี้หรือเรือรบจริงๆเลยจะดีกว่า

ความเหมาะสมและอุปสรรคของโครงการ

     โครงการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.997 เป็นการต่อยอดมาจากของเดิมที่มีประจำการอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจึงใช้ระบบและอาวุธต่างๆใกล้เคียงกัน ทำให้ใช้งานดูแลและซ่อมบำรุงได้อย่างไม่ติดขัด ผู้เขียนขอสนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มที่ถ้าได้เริ่มต้นหลังเรือชุด ต.994 เข้าประจำการใหม่ๆ ทว่า 3 ปีผ่านไปมีหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลง ทำให้ความเหมาะสมในการสร้างเรือชุดนี้เข้าประจำการดูจะมีอุปสรรค แต่เป็นอุปสรรคที่ส่งผลดีมากกว่าผลเสียนะครับอย่างเพิ่งตกใจไป ปัจจัยสำคัญบางประการที่ส่งผลกระทบโดยตรงมีดังนี้

เรือตรวจการณ์ระยะปานกลาง  M58  หรือเรือชุดเรือหลวงแหลมสิงห์

     วันที่ 25 สิงหาคม 2558 ได้มีพิธีปล่อยเรือหลวงแหลมสิงห์ลงน้ำ เรือตรวจการณ์ระยะปานกลางลำใหม่มีความยาว 58 เมตร กว้าง 9.30 เมตร กินน้ำลึก 2.50 เมตร ระวางขับน้ำสูงสุด 520 ตัน ความเร็วสูงสุด 23 นอต ระยะปฏิบัติการ 2,500 ไมล์ทะเล มีความคงทนสภาวะทะเลระดับ 4 ( SEA STATE 4 ) ออกปฏิบัติงานในทะเลต่อเนื่องได้ 7 วัน กำลังพลประจำเรือ จำนวน 53 นาย ติดตั้งปืนใหญ่อัตโนมัติ 76/62 มม. 1 กระบอก ปืนกลอัตโนมัติ  30 มม.จำนวน 1 กระบอก และปืนกล 12.7 มม. อีก 2 กระบอก ด้านท้ายเรือออกแบบให้ติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์หรืออาวุธจรวดได้ ระบบอำนวยการรบ Thales TACTICOSระบบออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง Thales  Mirador เรดาร์เดินเรือ Furuno จำนวน 2 ระบบ S-Band และ X-Band

     ที่เขียนมาทั้งหมดใช้งบประมาณรวมแค่เพียง 699ล้านบาทต่อลำ เทียบกับราคาเรือ ต.991คือ 637 ล้านบาทแล้วนับว่าไม่แพงเลย ได้เรือที่ใหญ่กว่าเดิมติดอาวุธดีกว่าเดิมทั้งที่สร้างห่างกัน8ปีเต็ม รองรับการติดตั้งอุปกรณ์เสริมได้ดีกว่ามีพื้นที่ว่างมากกว่าระวางขับน้ำมากกว่าและเหมาะสมมากกว่า เพราะฉะนั้นถ้ากองทัพเรืออยากได้เรือตรวจการณ์ที่สามารถติดจรวดต่อสู้เรือรบเพิ่มได้ล่ะก็ เรือหลวงแหลมสิงห์คือคำตอบที่เหมาะสมที่สุดแล้ว

เรือสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือ M36 หรือเรือชุด ต.111

     เรือหลวงแหลมสิงห์มีความเหมาะสมกับการติดอาวุธจรวดเพิ่มเติม อีกทั้งมีขนาดใหญ่กว่าติดอาวุธที่ดีกว่าและอานุภาพรุนแรงกว่า จึงเหมาะสมกับภารกิจลาดตระเวณในน่านน้ำที่มีความสุ่มเสี่ยงสุงมากกว่า แต่เพราะเรือมีขนาดใหญ่กว่าจึงมีระวางขับน้ำมากกว่าเรือชุด ต.994 ถึง 300 ตัน ถ้านำมาใช้งานทดแทนในภารกิจตรวจการณ์ทั่วๆไปแล้ว จะมีค่าใช้จ่ายทั้งส่วนของเรือและลูกเรือสุงมากกว่าแน่นอน ทว่าก่อนหน้านี้เพียง 1 ปีกองทัพเรือได้นำเรือสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือชุด M36 หรือเรือชุด ต.111 เข้าประจำการจำนวน 3 ลำเรียบร้อยแล้ว

    เรือ ต.111 มีความยาว 36 เมตร กว้าง 7.60 เมตร กินน้ำลึก1.70 เมตร ระวางขับน้ำเต็มที่ ประมาณ 150 ตัน ความเร็วสูงสุด 27 นอต ระยะปฏิบัติการ 1,200 ไมล์ทะเล สามารถปฏิบัติการในสภาวะทะเลได้ถึง Sea State 5 ปฏิบัติการทางเรือได้อย่างต่อเนื่องในทะเลได้ 10 วัน ติดอาวุธปืนกล 20 มม. 1 กระบอกและปืนกล 12.7 มม.อีก 2 กระบอก ด้านท้ายเรือถูกออกแบบให้ติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์หรืออาวุธจรวดเพิ่มเติมได้ งบประมาณในการต่อเรือทั้ง 3 ลำอยู่ที่ 553 ล้านบาท หรือลำละ 184.3ล้านบาท

     จะเห็นได้ว่าเรือชุดนี้มีขนาดใกล้เคียงกับเรือชุด ต.991 มาก แต่มีความอเนกประสงค์ในการใช้งานเทียบเท่าเรือชุด ต.994 สามารถปรับเปลี่ยนภารกิจได้อย่างยืดหยุ่น (Flexible Mission) แม้กระทั่งภารกิจขนน้ำมันหรือน้ำจืดก็สามารถทำได้ และทำได้ดีกว่าเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งทั้ง 2 รุ่นที่ไม่รอบรับภารกิจแบบนี้ ถ้านำเรือมาติดตั้งปืนกลอัตโนมัติขนาด 30 มม. ระบบอำนวยการรบ Thales TACTICOS และระบบออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง Thales  Mirador ผู้เขียนคิดว่าจะสามารถใช้งานเรือได้ไม่ต่างไปจากของเดิม โดยที่ราคารวมหลังติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมดจะต่ำกว่าเรือชุด ต.994 อยู่บ้าง เรือ ต.111 ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 3 เครื่องพร้อมเพลาใบจักร 3 เพลา สามารถเลือกใช้งานเครื่องยนต์ทั้งหมดหรือเฉพาะบางเครื่องได้ มีความยืดหยุ่นมากกว่าและน่าจะมีค่าใช้จ่ายในการปฎิบัติงานถูกลง

     จริงอยู่ว่าเรือชุด ต.991และ ต.994 ออกแบบให้เป็นเรือรบอย่างแท้จริง ขณะที่เรือชุด ต .111 ถูกออกแบบให้เป็นเรืออเนกประสงค์รุ่นใหม่ก็ตาม แต่ภารกิจและความเหมาะสมในปัจจุบันนี้ผู้เขียนมองว่า ใช้เรือชุดเรือหลวงแหลมสิงห์ในภารกิจลาดตระเวณในน่านน้ำที่มีความสุ่มเสี่ยงสุงมาก และใช้เรือชุด ต.111 ในภารกิจสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือ  ตรวจสอบเรือต้องสงสัย ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ลาดตระเวนป้องกันการแทรกซึมในน่านน้ำทั่วไป รวมทั้งคุ้มครองเรือประมงและทรัพยากรธรรมชาติ น่าจะเหมาะสมมากที่สุดแล้ว
                                           เรือ ต.111 จอดเทียบข้างเรือ ต.994 จะเห็นได้ว่ามีขนาดใกล้เคียงกันมาก

สรุปส่งท้ายและอุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศ

     โครงการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.997  อาจจะมีการพัฒนาต่อหรือไม่มีอีกต่อไปแล้วก็เป็นได้ แต่พัฒนาการของการต่อเรือภายในประเทศไทย สามารถเดินหน้าได้อย่างรวดเร็วเกินความคาดหมายผู้เขียนอยู่บ้าง เรามีเรือตรวจการณ์รุ่นใหม่ที่มีแบบเรือทันสมัยและเหมาะสมกับการใช้งานจริง ปัจจุบันอนาคตและต่อๆไปกองทัพเรือไทยไม่จำเป็นต้องซื้อเรือตรวจการณ์ขนาดเล็กจนถึงขนาดกลางจากต่างประเทศเลย โครงการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งเราก็สร้างสำเร็จไปแล้ว 1 ลำ และยังมีความต้องการอีกอย่างน้อย 3 ลำแน่นอนครับต้องสร้างเองในประเทศ  โครงการเรือฟริเกตสมรรถนะสุงแบบเรือเกาหลีใต้  กองทัพเรือได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะประกอบเรือลำที่ 2 ภายในประเทศ อุตสาหกรรมต่อเรือของเราดีมากขึ้นตามลำดับ แม้จะมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง อาทิเช่น อู่ต่อเรือหลายแห่งไม่มีอุปกรณ์ทันสมัยหรืออาคารในร่มขนาดใหญ่ ความล่าช้าของโครงการต่างๆ รวมถึงปัญหาหน้างานที่ต้องแก้ไขกันวันต่อวัน

     ถ้าเราสามารถบริหารข้อบกพร่องๆต่างได้ดีมากขึ้นหรือทำให้หมดไปได้เลย ในอนาคตข้างหน้าเราอาจได้เห็นเรือฟริเกตที่ออกแบบเองในประเทศวิ่งโชว์ธงไปทั่วโลกก็เป็นได้ ผู้เขียนคาดหวังไว้ว่าจะได้เห็นภาพแบบนี้ในอนาคตไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า ถึงตอนนั้นเราคงได้พูดคุยกันอีกครั้งด้วยหัวใจที่พองโตมากกว่าเดิม
                                                 --------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B9%83%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%9D%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%89%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B4_80_%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%B2
http://www.thaiarmedforce.com/distribution/viewtopic.php?f=6&t=3013&start=15
http://www.komchadluek.net/detail/20120625/133610/%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%9E.%E0%B8%97%E0%B8%A3.%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4.html
https://en.wikipedia.org/wiki/C-704
https://en.wikipedia.org/wiki/Penguin_%28missile%29
http://pantip.com/topic/34025685