วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ย้อนอดีตไปดูการฝึกในเรือดำน้ำของราชนาวีไทยในปีพ.ศ.2483 กลับมาเถิดวันวาน(ที่หวานชื่น)



ช่วงเวลา2ปีที่ผ่านมา กระแสเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำเข้าประจำการในประเทศแถบเอเชียมีมากขึ้นเรื่อยๆ วันนี้มีข่าวว่าบังคลาเทศจะขอซื้อเรือดำน้ำจากจีน ส่วนประเทศพม่าและกัมพูชาเองก็มีแผนการที่จะจัดหารในระยะเวลาไม่เกิน10ปีต่อจากนี้เช่นกัน ปัจจุบันกองทัพเรือไทยยังไม่มีเรือดำน้ำเข้าประจำการ และดูเหมือนจะยังไม่อยู่ในแผนการ5ปีข้างหน้านี้แน่นอน เพราะมีการทุ่มงบประมาณ3หมื่นล้านบาทเพื่อจัดหาเรือฟริเกตุสมรรถนะสุง เพื่อนำมาปราบปรามเรือดำน้ำที่กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นรอบประเทศเราอีกที ทำให้งบประมาณที่จะจัดซื้อเรือดำน้ำถูกยกยอดไปอีกหลายปี ในปีที่แล้วเราปฏิเสธที่จะจัดซื้อเรือดำน้ำมือสองจากเยอรมัน U206 จำนวน4ลำ และเรือดำน้ำฝึกจำนวน2ลำพร้อมอุปกรณ์ต่างๆ ในวงเงิน6,900ล้านบาทไปอย่างน่าเสียดายด้วยเหตุผลที่ไม่ชัดเจน แต่ทำให้กองทัพเรือไทยถอยหลังในเรื่องเรือดำน้ำไป10ปีอย่างทันควัน

วันนี้ผมขออนุญาติเผยแพร่บทความชื่อ "การดำครั้งแรกของข้าพเจ้า" จาก นิตยสารนาวิกศาสตร์ เล่มที่ 1 ปีที่ 24 ที่เขียนขึ้นโดย นักเรียนนายเรือ ประวิทย์ จีระจันทร์ งานเขียนของท่านทำให้ทราบถึงความรู้สึกของทหารเรือในอดีตที่ได้มีโอกาสประจำการบนเรือดำน้ำกองทัพ เรือไทย




การดำครั้งแรกของข้าพเจ้า โดย นักเรียนนายเรือ ประวิทย์ จีระจันทร์
เป็น ครั้งแรกในราชนาวีไทยที่ยอมให้นักเรียนนายเรือลงไปศึกษากิจการภายในเรือดำ น้ำขณะออกไปทำการฝึก ผู้ที่มีโอกาสดีนี้ก็คือ นักเรียนใหม่ของต้น พ.ศ. 2483 ซึ่งมีข้าพเจ้ารวมอยู่ด้วยคนหนึ่ง

ภายหลังจากการเดินทางไปฝึกภาคต่างประเทศ มีอินโดจีนและชะวาครบตามกำหนดแล้ว ร.ล. แม่กลองก็พาพวกเราทั้งหมดกลับเข้าสู่น่านน้ำไทยแดนบิดรของเรา เมื่อเรือจะเข้าจอดหน้าจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ข้าพเจ้าได้ทราบว่าหมวดเรือดำน้ำกำลังทำการฝึกอยู่ในอ่าว เวลาเดินทางจากประจวบถึงสัตหีบ ข้าพเจ้าจึงมักจับตาดูกล้องตาเรือที่คาดว่าอาจจะโผล่ขึ้นมาให้เห็น เพราะตั้งแต่เกิดมา ข้าพเจ้ายังมิเคยเห็นเรือดำน้ำขณะทำการอยู่กลางทะเลแม้สักครั้งเดียว นอกจากในจอภาพยนตร์ เมื่อครั้งเรือหลวงแม่กลองจะเข้าสุราบายา เพื่อนๆเขาบอกว่าได้เห็นเรือดำน้ำฮอลแลนด์แล่นมาดำใกล้ๆเรือเรา แต่ในขณะนั้นข้าพเจ้ามัวไปทำงานอื่นเสีย เลยอดดู แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏว่าข้าพเจ้าได้เห็นอะไรตามที่หวังเลย เมื่อเรือมาถึงสัตหีบจึงได้พบว่า เรือดำน้ำไทยเหล่านั้นมาจอดอยู่ที่นี่ทั้งหมด 

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 83  พวกเราว่างการสอบ ทางเราได้กรุณาติดต่อไปทางหมวดเรือดำน้ำ พาพวกเราลงไปดูเรือพลายชุมพล ซึ่งเทียบอยู่ข้างเรือพงัน ชั่วเวลาไม่ถึงชั่วโมง ทั้งตัวข้าพเจ้าเองก็ไม่มีภูมิเดิมซึ่งเกี่ยวกับเทคนิคของเรือดำน้ำอยู่เลย จึงได้แต่ลืมตาอ้าปากเที่ยวมองดูคันหมุนคันโยกนับแทบไม่ถ้วน พวกเราทั้งหมดมี 23 คน ถึงแม้จะแบ่งออกเป็น 3 พวกแล้วก็ตาม ก็ยังไม่วายเดินเบียดกัน เพราะที่ทางแคบ และมีของกระจุกระจิกมิใช่น้อย พวกเราถามถึงสิ่งต่างๆที่ไม่เคยเห็นกันแต่พอสังเขป เพราะไม่มีเวลารวมทั้งไม่มีภูมิที่จะซักถามให้ถูกเรื่องราวด้วย แล้วก็ลาเรือพลายชุมพล กลับเรือเราด้วยความเสียดายที่ยังดูอะไรๆไม่เป็นที่อิ่มตา

รุ่งขึ้นในตารางประจำวันสำหรับนัก เรียนใหม่ มีอักษรเขียนในช่องวันที่ 10 ว่า "ดำน้ำ" เลยเกิดปัญหาถกเถียงขึ้นในหมู่พวกเรา บ้างก็ว่า คำว่า "ดำน้ำ" นั้นหมายความว่าพวกเราจะต้องไปดำน้ำ จะเป็นดำลึกหรือดำทนอะไรก็แล้วแต่ สำหรับตัวข้าพเจ้าเองเดิมก็เข้าใจในทำนองนี้เหมือนกัน มีพวกบางคนกล่าวว่า พวกเราจะได้ลงเรือดำน้ำจริงๆ แต่ก็มีกี่คนที่ตีความหมายไปในทำนองนี้ แล้วความจริงก็ปรากฏว่าพวกหลังเป็นฝ่ายแปลความหมายถูก พอรู้กันแน่นอนว่าจะได้มีโอกาสไปกับเรือดำน้ำ ข้าพเจ้าก็รู้สึกตัวว่ากลายเป็นคนอื่นไปเสียแล้ว เพราะไม่เคยคิดว่าจะมีโชคดีถึงเพียงนี้ 

เข้าวันที่ 10 มิ.ย. 83 มนุษย์โชคงามทั้ง 23 คน ได้รับอนุมัติให้รับประทานข้าวพร้อมกับยามผลัด 1 คือเวลา 0730 และเวลา 0800 ให้พร้อมที่จะไปจากเรือได้ ข้าพเจ้ารับประทานข้าวได้ไม่กี่คำก็เลิก แต่ไม่ยอมรับกับพวกเพื่อนๆว่า ตื่นจนกินข้าวไม่ลง แก้ตัวไปว่า แกงมะระซึ่งเป็นกับข้าวมื้อเช้านี้ พ่อครัวต้มเอารสขมออกไม่หมด รู้สึกว่าไม่แต่ข้าพเจ้าคนเดียวที่ตื่น แต่เพื่อนคนอื่นๆก็คงเช่นกัน เพราะปรากฏว่าแทบทุกคนพร้อมอยู่บนดาดฟ้าก่อน 0800 ทั้งนั้น เมื่อพวกเราทั้งหมดมาถึงเรือพงัน ซึ่งเป็นเรือพี่เลี้ยงของเรือดำน้ำในการออกมาฝึกคราวนี้ ผู้อำนวยการศึกษาพรรคนาวิน ก็จัดการแบ่งพวกเราออกเป็น 3 ชุด ชุดหนึ่งๆก็ต้องอยู่ที่ที่แห่งหนึ่งจะเดินเพ่นพ่านไม่ได้ ข้าพเจ้ากับเปล่งมีโชคดีที่ถูกจัดให้อยู่หอกลาง และอยู่ใกล้กล้องตาเรือที่อยากดูเป็นนักเป็นหน

 เรือ ที่จะพาพวกเราไปดำ คือ เรือวิรุณ เมื่อพวกเราลงเรือเรียบร้อยแล้ว ก็พอดีถึงเวลาออกเรือ พวกเราผ่าน ร.ล.แม่กลอง อู่นอนของเราไปอย่างภาคภูมิ โบกมือให้กับพวกที่ยืนดูเราผ่านออกไปด้วยความร่าเริง ขณะนี้เรือเดินด้วยเครื่องไฟฟ้า พอ 0845 ก็เริ่มใช้เครื่องดีเซล ครั้นเรือออกมานอกอ่าวสัตหีบแล้ว เวลา 0906 ก็เลิกเครื่องดีเซล ให้เวลาคนประจำเรือพักสูบบุหรี่ 5 นาที เพราะเมื่อลงไปใต้น้ำแล้ว เรื่องบุหรี่เป็นต้องงดเด็ดขาด ในระหว่างเวลาพักนี้ น.ต. พร ผู้บังคับการเรือ ได้กรุณาอธิบายเรื่องกล้องตาเรือที่ประจำกับเรือให้พวกเราฟังพอเป็นเค้า 

เวลา 0911 เตรียมเรือเข้ารบ ร.ท. พจน์ จิตรทอง ต้นหน จัดการหาที่เรือ คนประจำเรือช่วยกันตรวจเรือตลอดลำ เก็บของที่จะหลุดหายหรือชำรุดได้เมื่อถูกน้ำเค็ม ล้มเสาและเก็บเข็มทิศบนสะพาน เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า กระทำร้ายศตรูของเรือชนิดนี้ ก็เมื่ออยู่ใต้ผิวน้ำ ข้าพเจ้ายืนดูเขาทำงานกัน ด้วยรู้สึกตื่นเล็กน้อย เห็นของแปลกๆอันเป็นธรรมดาของผู้แรกเห็น ทุกคนมีหน้าที่ประจำตัวและปฏิบัติได้อย่างรวดเร็วและเรียบร้อย ปราศจากเสียง ผิดกับในเรือของเรา ซึ่งแทบทุกคนมักมีหน้าที่สั่งงานทั้งสิ้น ตามลำดับอาวุโส

เวลา 0920 มีคำสั่งว่า "เตรียมดำ" คนประจำเรือทั้งหมด ลงจากดาดฟ้า ไปประจำตามหน้าที่ของตน ปิด ฝาจมโผล่กั้นน้ำทางลงแล้ว เครื่องไฟฟ้าก็เริ่มเดิน เรือเคลื่อนที่ไปข้างหน้าเบาๆ ผู้บังคับการเรือสั่งทดลองรั่วในเรือ โดยเพิ่มความดันภายในเรือให้มากขึ้นนิดหน่อย แล้วสังเกตดูเกช ถ้าความดันไม่ตก ก็เป็นอันว่าเรือปราศจากรูรั่วและพร้อมที่จะซ่อนตัวดำลงใต้น้ำได้ ขณะทดลองรั่วนี้เอง มีพวกเราบางคนตีหน้าชอบกล สำหรับข้าพเจ้าเองรู้สึกอึดอัดเล็กน้อย ความดันขณะนี้ 772.5 ซม แต่อย่างไรก็ตามคงมีพวกเราบางคนที่ไม่รู้สึกแปลกอะไร แต่ไม่ช้าความรู้สึกเหล่านี้ก็ถูกขับหายไปสิ้น ความตื่นเต้นต่างๆเริ่มเข้ามาแทนที่ในเมื่อได้ยินคำสั่งเกี่ยวกับการดำไม่ ขาดระยะ 

เวลา 0939 เรืออยู่ใต้ระดับน้ำ 10 เมตร จากกล้องตาเรือที่เคยอยากดูอย่างที่สุด ข้าพเจ้าก็ได้เห็น ร.ล. พงัน ซึ่งตามออกมาเป็นเรือเป้าในการฝึกยิงตอร์ปิโด กำลังแล่นอยู่บนพื้นน้ำ มองไปรอบๆก็ได้เห็นเกาะต่างๆที่แลดูงามขึ้นอย่างประหลาดทั้งๆที่เมื่ออยู่บน ผิวน้ำ ข้าพเจ้าไม่เคยสนใจมากนักเลย ตลอดเวลาข้าพเจ้าไม่ยอมห่างกล้อง พอได้โอกาสขณะที่ต้นเรือไปทำกิจอื่น ข้าพเจ้าเป็นเข้าแทนที่ทันที ดูทุกสิ่งที่สามารถจะดูได้อย่างไม่รู้เบื่อ บางคราวเมื่อสมมุติว่ายิงตอร์ปิโดไปลูกหนึ่ง เรือจึงโผล่ขึ้นปริ่มน้ำครั้งหนึ่ง เพื่อแสดงที่เรือให้เป้าเห็นได้ชัดเจน จากกล้องตาเรือจะมองเห็นทางท้ายเรือลอยอยู่เกือบๆพ้นระดับน้ำ เสาวิทยุเล็กๆตัดน้ำเป็นทาง เห็นรูปเรือลอยอยู่ในน้ำได้รางๆ เรือเป้าแล่นผ่านทางหัวท้ายบ้าง ทำให้คิดไปถึงสงครามขณะนี้ว่า จะมีเรือปฏิปักษ์ลำใดบ้างหนอที่กำลังเคราะห์ร้ายถูกด้อมหาโอกาสทำลายอย่าง ที่เราทำการฝึกอยู่ขณะนี้ งานที่กระทำถึงแม้จะดูเป็นการลอบทำร้ายอย่างไม่ใช่นักกีฬาก็ตาม แต่ก็เป็นงานที่จำใจต้องทำเพื่อประโยชน์แก่บ้านเกิดเมืองนอนของตน ซึ่งไม่มีผู้รักชาติคนใดจะติเตียนได้ งานของเรือดำน้ำก็คือการทำลายศตรูผิวน้ำในระยะฉกรรจ์ของตอร์ปิโด ซึ่งนับว่าต้องเข้าใกล้ข้าศึกมาก 

งานนี้เป็นงานที่นักดำทุกคนยอมสละแล้ว ทุกๆอย่างเพื่อชาติของเราโดยเฉพาะ งานทุกอย่างใต้ผิวน้ำเกี่ยวกับชีวิตของพวกเขาทั้งลำเรือ แต่สำหรับคนไทยเราที่มีคติอยู่ว่า "ถึงที่ตายแม้อยู่ในมุ้งก็หนีไม่พ้น" ฉะนั้นเราควรพูดได้เต็มปากว่า คนขี้ขลาดเท่านั้นแหละที่กลัวตาย และคนจำพวกนี้เองเป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่ถ่วงความเจริญของชาติให้ด้อยลงโดย ปากของเขา สิ่งใดที่เขาไม่กล้าทำแล้วกลับยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นไม่ทำ ตามเขานั้น หาเป็นไปด้วยความหวังดีไม่ แต่เป็นไปด้วยอาการที่จะหาพรรคพวกไว้สนับสนุนปิดบังความขลาดของเขานั้นเอง พ่อแม่ผู้ปกครองบางท่านความที่รักลูกจนเกินการ มักไม่ยอมให้ลูกหลานของท่านเป็นนักบิน นักดำ โดยกลัวว่าเขาเหล่านั้นจะตาย แต่ท่านหานึกไม่ว่า ถึงเขาไม่เป็นนักบิน นัก ดำ เขาก็ต้องตาย และท่านก็หาทราบไม่อีกว่าการตายโดยอยู่เฉยๆ กับตายในขณะพยายามทำประโยชน์แก่ชาตินั้นมันต่างกันอย่างไร ถ้าท่านผู้เฒ่าผู้แก่ของเรารักชาติ และอบรมบุตรหลานของท่านให้ถูกวิธีแล้ว ข้าพเจ้าไม่สงสัยเลยว่าไทยเราจะก้าวไปได้อีกไกลมากกว่านี้มากต่อมากนัก

เวลา 1116 ครั้นทำการยิงตอร์ปิโดสมมุติครบ 3 เที่ยวแล้ว ร.ล. วิรุณ ก็ทะยานขึ้นสู่ผิวน้ำ ภายหลังจากการดำราว 1 ฝ ชั่วโมง ข้าพเจ้ารีบขึ้นมาดูความเป็นไปข้างนอก เห็นแต่น้ำกำลังไหลออกจากซอกมุมต่างๆ ร.ล. พงัน ซึ่งทำหน้าที่เป็นเรือเป้ากำลังแล่นเข้าอ่าวกลับไปจอดที่เดิม ความรู้สึกของข้าพเจ้าขณะนี้อธิบายไม่ถูกว่าเป็นอย่างไรบ้าง มองพยายามจะให้ทะลุผิวน้ำลงไปดูบริเวณที่ได้ผ่านมาแล้วเมื่อสักครู่นี้ด้วย ความแปลกใจระคนกับความตื่นเต้น ทุกอย่างเป็นสิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้ แต่มันก็ได้เป็นไปแล้ว ปลาประดิษฐ์ของมนุษย์สามารถลง ไปว่ายคละอยู่กับปลาของธรรมชาติได้อย่างง่ายดาย ถ้าไทยเราสามารถปล่อยปลาประดิษฐ์ชนิดนี้ ลงในน่านน้ำไทยได้มากเท่าไหร่ แดนทะเลของเราก็จะมั่นคงมากขึ้นเท่านั้น แล้วแหลมทองมิ่งขวัญของไทยทุกคนก็จะปลอดภัยด้วยนานาประการ เหตุด้วยสัตว์น้ำใหม่นี้จะมีวิญญาณอยู่เพื่อไทย คอยกวาดล้างศตรูพวกซึ่งจะผ่านเข้ามาย่ำยีไทย และจะเทิดไว้ซึ่งความเป็นไทยประเทศชั่วนิรันดร 

เราผ่าน ร.ล. แม่กลอง เวลาประมาณ 1145 ซึ่งเป็นเวลาใกล้อาหารกลางวัน และทางผู้ใหญ่คงจะคาดว่าพวกเราหิว จึงเร่งให้เรือมารับพวกเรากลับ สำหรับข้าพเจ้าขอปฏิเสธว่าไม่รู้สึกหิวเลย และคงมีเพื่อนของข้าพเจ้าอีกไม่น้อยที่มีความรู้สึกเช่นเดียวกับข้าพเจ้า

ระหว่างทาง ร.ท. พจน์ จิตรทอง ผู้อำนวยการศึกษาของพวกเราเมื่อปีที่แล้ว ได้กรุณามานั่งอธิบายเรื่องเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับเรือดำน้ำให้ฟังอีก นับว่าท่านยังคงกังวลในพวกเราอยู่ตลอดมา ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนจะลืมเสียมิได้เลย จากท่านข้าพเจ้าได้ความรู้ในเรื่องศัพท์ของเรือดำน้ำภาษา ต่าง ประเทศ ที่เข้าใจว่ายังมีอีกไม่น้อยคนที่ไม่ทราบเช่นเดียวกับข้าพเจ้าในขณะนั้น กล่าวคือ คำว่า "Submarine" คำนี้ข้าพเจ้าเชื่อว่าแทบทุกคนคงหมายความถึงเรือดำน้ำที่ใช้กันอยู่ทุก วันนี้ แต่ความจริงหาใช่ไม่ "Submarine" ความจริงหมายถึง เรือใต้น้ำที่ปรากฏจากกำลังลอย หรือมีกำลังลอยเป็นลบ ไม่สามารถทรงตัวลอยอยู่ในน้ำได้ด้วยตัวมันเอง แต่สามารถจมลงใต้ระดับน้ำด้วยน้ำหนักของมันแต่ลำพัง ส่วนเรือดำน้ำที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ถึงแม้เราจะเห็นว่ามันอาจจมลงใต้ระดับได้ แต่ความจริงกำลังลอยของมันเป็นบวกอยู่เสมอ และอาจสามารถทรงตัวลอยอยู่ในน้ำได้ ในการอาการที่เรียกกันว่า "แขวน" และการที่มันจมลงใต้ระดับน้ำทั้งๆที่ยังมีกำลังลอยเป็นบวก ก็เนื่องด้วยอำนาจของหางเสือนอนที่กระทำขณะเรือกำลังเคลื่อนที่ เรือดำน้ำในลักษณะนี้เป็นเรือที่เราใช้กันในปัจจุบันทั่วโลก และไม่ใช่ Submarine แต่เป็นเรือชนิด "Submersible"

ข้าพเจ้าจากเรือวิรุณ มาด้วยความภาคภูมิใจที่พอจะไปอวดพรรคพวกได้เต็มปากว่า "เคย ลงดำในเรือดำน้ำมาแล้ว" และทุกสิ่งที่ได้พบเห็นจะคงติดตาเตือนใจข้าพเจ้าอยู่ตลอดไปว่า วันหนึ่งข้าพเจ้าได้เคยยืนอยู่ใต้ระดับน้ำลึกหลายเมตร และสามารถกวาดสายตาชมภูมิประเทศบนผิวน้ำรอบๆข้างด้วยความร่าเริงใจ


ร.ล.วิรุณ ที่ผู้เขียนได้ทำการฝึกดำน้ำ




ร.ล.มัจฉานุ ที่เป็น1ใน4ลำ ของกองเรือดำน้ำประเทศไทยในอดีต



                      

วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

โครงการพัฒนารถเกราะเพื่อใช้งานภายในประเทศ


เนื่องในโอกาสครบรอบวันสถาปนาขึ้นสู่ปีที่ 5 ของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ DTI เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2556 พลอากาศเอกสุกำพล สุวรรณฑัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "อีกก้าว ... ในการสร้างแสนยานุภาพ ให้กองทัพไทยด้วยการพึ่งพาตนเอง ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก (วิภาวดี) มีใจความดังบางส่วนดังนี้

      "สทป. เริ่มจากการทำจรวด DTI-1 ซึ่งมีระยะยิงไกลถึง 180 กิโลเมตร ได้เทคโนโลยีจากจีน เป็นการ Reverse Engineering ซึ่งถือว่าสำเร็จแล้ว ต่อไปก็กำลังจะทำเป็นรุ่นนำวิถี แต่ความต้องการของกองทัพเปลี่ยนไป นโยบายต่างประเทศของเราก็คือป้องกันประเทศ ไม่รุกรานใคร ต่อไปในอาเซียนเราอาจจะไม่รู้จะรบกับใคร เพราะประเทศเราเป็นศูนย์กลางของอาเซียน เหมือนเป็นไข่แดง มีไข่ขาวล้อมรอบอยู่ ยิ่งต่อไปจะเป็นประชาคมอาเซียนแล้ว ถ้าเพื่อนบ้านเช่นพม่าเจริญ ปัญหายาเสพติดก็จะค่อย ๆ หมดไป ถ้าโครงการที่ทวายสำเร็จปัญหาแรงงานต่างด้าวก็จะหมดไป ซึ่งตรงนี้ต้องคิดแล้ว

        ดังนั้น เมื่อเริ่มจาก DTI-1 แล้ว ก็กำลังพัฒนาไปเป็น DTI-1G วันนี้ความต้องการของกองทัพซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของ สทป. ซึ่ง สทป. ต้องสนับสนุน เพราะกองทัพมีงบประมาณชัดเจน ซึ่งต้องมาสนับสนุน สทป. เช่นกัน วันนี้ทราบว่ามีผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ของไทยมาฟังด้วย จึงอยากจะพูดเรื่องรถเกราะ เพราะประเทศเรามีอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เข้มแข็งมาก ดังนั้นตรงนี้ต้องพัฒนาต่อไป
       ผมให้แนวทางกับ สทป. เรื่องรถเกราะเอาไว้ เพราะเรามีความต้องการอีก 2 กรม ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่มากพอที่จะผลิตตอบสนองได้ เทคโนโลยีของรถเกราะก็น่าจะอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ซึ่งผมได้ให้นโยบายไว้ว่าเราจำเป็นต้องทำ ให้ร่วมกับเอกชนที่เก่ง ๆ ของไทย อย่างตอนนี้บริษัทของไทยก็ทำรถหุ้มเกราะ First Win ได้แล้ว แม้จะยังใช้อยู่น้อยก็ต้องสนับสนุนกันต่อไป เพื่อให้อุตสาหกรรมของเราเติบโต
       รถ เกราะเป็นสิ่งที่เราเริ่มที่จะทำ งบประมาณก็มีแล้วในการวิจัย โดยกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ มาดูว่ามีความต้องการอย่างไร ต้นแบบตรงกับความต้องการหรือไม่ ซึ่งต่อไปเราอาจจะขายไปต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียน ถ้าเราจะให้เขาซื้ออาจจะให้เขาร่วมเป็นหุ้นส่วนกับเราในการผลิตด้วย เหมือนกับ EADS ที่ทำ Eurofighter Typhoon ซึ่งเป็นการร่วมมือกันของยุโรป และประเทศยุโรปก็ซื้อ Typhoon ใช้ นี่คือสิ่งที่เราต้องคิด สทป. จะมีแต่นักวิจัยอย่างเดียวไม่ได้ ต่อไปต้องคิดถึงการตลาดด้วย เช่นรถเกราะนั้น เวียดนามจะซื้อไหม ฟิลิปปินส์จะซื้อไหม

        ดังนั้นรถ เกราะคือสิ่งที่ สทป. จะต้องเริ่มดำเนินการ ส่วนในเรื่องอื่นเช่น UAV จะต้องวิจัยต่อยอดจากสิ่งที่เหล่าทัพวิจัย ไม่ต้องเริ่มใหม่ นี่คือสิ่งที่ สทป. ต้องทำ ต่อไปอาจจะไม่มีเครื่องบินขับไล่แล้ว ดังนั้น UAV เป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งภาคเอกชนจะต้องมีบทบาทสำคัญในการร่วมที่จะทำตรงนี้ คนของ สทป. จะต้องมีความรู้ องค์ความรู้ที่ว่าโรงงานไหนทำอะไรได้ต้องอยู่ที่ สทป."

จากข่าวนี้จะเห็นได้ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต้องการให้มีการพัฒนารถเกราะขึ้นมาเพื่อใช้งานในกองทัพไทย โดยมีความต้องการถึง2กรมด้วยกัน นับเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสุง มาดูผลงานของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ที่เคยทำขึ้นมาแล้วบ้างครับลงานที่ชัดเจนก็คือจรวดDTI-1เป็นจรวดไม่นำวิถีมีระยะยิงไกลถึง180กม.ที่มีการส่งมอบให้กับกองทัพบกในล๊อตแรกไปแล้ว



                                                        จรวดDTI-1 ที่มีการจัดแสดงตัวจริงไปเมื่อไม่นานมานี้



ตามแผนงานที่วางไว้ ในอนาคตจะมีการพัฒนาไปเป้นจรวดร่อนและจรวดอากาศสู่อากาศในช่วงสุดท้าย ก็ต้องจับตาดูกันต่อไปกับผลงานจากคนไทยกลุ่มนี้



                                             แผนการพัฒนาจรวดเพื่อความมั่นคงของสทป.                   


ชื่อต่อมาที่รมต.เอ่ยถึงก็คือรถหุ้มเกาะล้อยาง4x4แบบ First Win ที่พัฒนาขึ้นมาโดยบริษัทชัยเสรี และมีการจัดซื้อไปใช่งานในกองทัพจำนวนหนึ่งแล้ว แม้จะยังไม่มากถึงขนาดเปิดสายพานการผลิตได้อย่างถาวร แต่ก็นับเป็นก้าวที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมด้านนี้ในประเทศไทย 


                                                                                         รถเกราะ 4x4 First Win ที่มีการจัดซื้อไปแล้วจำนวนหนึ่ง

นอกจาก First Win ที่ผลิตออกมาใช้งานจริงแล้ว ชัยเสรียังมีต้นแบบรถเกราะล้อยาง 8x8 แบบ Tiger I ที่เคยนำเสนอกองทัพบกในปีพศ.2550 มาแล้ว โดยมีต้นแบบรถเกราะที่เหมือนกับรถเกราะของประเทศสิงค์โปร์และไต้หวัน(CM-32 Yunpao) เพียงแต่ยังไม่มีการผลิตออกมาจริงเพราะมีต้นทุนในการสร้างค่อนข้างสุง แต่ในอนาคตถ้ามีความร่วมมือกับระหว่างสทป.และชัยเสรี ก็อาจจะมีรถเกราะ8x8สัญชาติไทยออกมาจริงๆก็ได้



                                                                  CM-32 Yunpao ของไต้หวัน